“Arm Booster” นวัตกรรมไทยฟื้นฟูกล้ามเนื้อผู้สูงวัย ราคาถูกกว่าตปท. 10 เท่า
"Arm Booster" หรือ อุปกรณ์ฝึกการทำงานของแขนแบบฝึกแขนสองข้าง ผ่านกลไกสะท้อนแบบสมมาตร สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผลงานจากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบ และพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมความพร้อมของการเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด หรือ Super Aged Society ในไทย
Arm Booster คือนวัตกรรมที่ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อผ่านการกายภาพที่มีคุณภาพ ซึ่งแม้ว่าชื่อเต็มๆ ของนวัตกรรมจะเจาะจงไปที่ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ทว่าในความเป็นจริงแล้ว Arm Booster มีประโยชน์และตอบโจทย์ผู้สูงอายุทุกคน นั่นเพราะปัจจุบัน นวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุยังมีไม่มากนัก
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (พบมากในผู้สูงอายุ) ที่มีอยู่ประมาณปีละ 2.5 แสนราย และในจำนวนนี้กว่า 70% มีความพิการหลงเหลืออยู่ จำเป็นต้องได้รับการกายภาพบำบัดฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องนั้น Arm Booster จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้ทันที
หลักการทำงานของ Arm Booster คือการใช้แขนข้างที่ดีไปออกกำลังแขนข้างที่ไม่ดี ผ่านกลไกการออกแบบลักษณะพิเศษ ที่สามารถทำให้แขนของผู้ใช้นวัตกรรมสามารถขยับได้หลากหลายทิศทาง ทั้งการยืดแขนไปด้านหน้า (Y-Direction) ยกแขนด้านบน (Z-Direction) และกางแขนด้านข้าง (X-Direction) โดยนวัตกรรมจะติดตั้งระบบเกม เพื่อช่วยดึงดูดให้ผู้ใช้งานเพลิดเพลินและใช้อุปกรณ์ได้นานยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีระบบเซนเซอร์บริเวณมือจับทั้งสองข้างเพื่อรับแรงจากแขนทั้งสองข้าง ประมวลผลด้วย LabVIEW และแสดงผลบริเวณหน้าจอขณะผู้ใช้งานกำลังออกแรง ซึ่งจะช่วยมอนิเตอร์การทำงานได้อย่างเรียลไทม์
Arm Booster ช่วยอุดช่องโหว่ของการกายภาพฟื้นฟูที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการฝึกแขนข้างที่อ่อนแรงเพียงข้างเดียว ทว่า Arm Booster จะฝึกแขนทั้งสองข้างพร้อมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้แขนตามปกติ และยังเป็นการเสริมภาพจำการใช้งานของสมอง ตลอดจนเสริมสร้างกล้ามเนื้อแขนจากลำตัวได้อีกด้วย
.
ขณะเดียวกัน ในมุมของผู้ป่วยเองนั้น พบว่าจำเป็นต้องได้รับการกายภาพหลายครั้งติดต่อกันเป็นเวลานาน การเดินทางไปกายภาพที่สถานพยาบาลจึงมีความยากลำบาก และมีค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม นำไปสู่การหมดกำลังใจในการรักษา ที่สุดแล้วก็จะมีความพิการหลงเหลืออยู่และกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
Arm Booster มีราคาประเมินราวเครื่องละ 3-4 แสนบาท โดยผลจากการทดลองใช้จริงพบว่า ผู้ป่วยที่ฝึกยกแขนด้วย Arm Booster จะมีระยะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ (range of motion) มากกว่าผู้ป่วยที่ฝึกยกแขนด้วยตนเองอย่างชัดเจน ในส่วนนี้จะส่งผลดีอย่างมากกับการทำกายภาพบำบัดเนื่องจาก ช่วยให้เกิดการทำซ้ำและสมองเกิดการเรียนรู้สั่งงานทำให้สมองจะมีการซ่อมแซมตัวเองที่ดีขึ้น เมื่อครบ 2 เดือนแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือ แรงของแขนกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงก่อนหน้านี้สูงขึ้นอย่างชัดเจน
เสียงตอบรับจากนักกายภาพบำบัดยังมองว่า นวัตกรรมชิ้นนี้ใช้ไม่ยากและลดภาระของนักกายภาพบำบัดได้ เนื่องด้วยผู้ป่วยสามารถใช้งานอุปกรณ์ได้ด้วยตนเองโดยนักกายภาพบำบัดทำหน้าที่เพียงควบคุมการกายภาพและตั้งค่าโปรแกรมเพียงเท่านั้น
นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อสังคมชิ้นนี้ การันตีมาตรฐานด้วยรางวัลผลประดิษฐ์คิดค้นระดับดีมาก จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้การประกาศผลรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567 ปัจจุบันได้รับการจดอนุสิทธิบัตรภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ถูกนำไปใช้จริงใน 3 สถานพยาบาล คือ
1. ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ เทศบาลตำบลบึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
2. รพ.สต.หนองสีดา อ.หนองแซง จ.สระบุรี
3. ศูนย์ส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองแสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี